Share

cover art for เหตุที่ทำให้คนเปลี่ยนไป [6736-7q]

7 ตามใจท่าน (ธรรมะสากัจฉา)

เหตุที่ทำให้คนเปลี่ยนไป [6736-7q]

Season 67, Ep. 36

Q : อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ (เปลี่ยนไปในทางไม่ดีเป็นอกุศล)?

A : เมื่อมีผัสสะที่เข้ามากระตุ้น เช่น ลาภ ยศ เงินทอง หากเราไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ฝึกใจ ไม่มีความเกรงกลัวละอายต่อบาป เมื่อเห็นช่องที่จะทำไม่ดีได้ ที่จะโกงได้ ทำชั่วได้ ก็จะทำสิ่งที่ชั่วสิ่งที่เป็นอกุศลได้ 

 

Q : อุปมาเปรียบกับสะใภ้ใหม่ที่มีหิริโอตตัปปะ

A : ท่านเปรียบดังหญิงสะใภ้ใหม่ เมื่อเข้ามาอยู่บ้านสามี แล้วมีหิริโอตตัปปะ มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป เกรงกลัวพ่อและแม่สามี แต่พออยู่นานเข้า หิริโอตตัปปะลดลง ไม่ฝึกสติ ไม่ฝึกใจ จึงทำให้ทำเรื่องไม่ดี ทำสิ่งที่เป็นอกุศลได้


Q : ปัจจัยที่จะมากระตุ้นให้เกิดจุดเปลี่ยน

A : มี 2 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยภายใน คือ ตัวเรามีหิริโอตตัปปะหรือไม่ ถ้ามี มีมากหรือน้อย ถ้ามีน้อย โอกาสให้ทำชั่วก็จะมาก ถ้ามีมาก รู้จักหักห้ามใจ มีสติ พอถึงจุดที่มีโอกาสจะทำชั่ว เราจะไม่ทำ และ 2) ปัจจัยภายนอก คือ ผัสสะที่เข้ามากระทบ ซึ่งปัจจัยภายนอกจะกระตุ้นให้เกิดกิเลสได้หรือไม่ ปัจจัยภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากคุณมีหิริโอตตัปปะคู่กันกับสติสัมปชัญญะ เหตุปัจจัยภายนอกจะไม่มามีผลกับเรา 

 

Q : จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเปลี่ยนไปในทางไม่ดีแล้ว?

A : เราต้องตรวจสอบตนเองเป็นประจำ เปรียบเทียบการทำความดีความชั่วของตน ด้วยการใช้เกณฑ์ของกุศลกับอกุศลมาวัด ตรงไหนที่เราทำผิดก็ให้เราแก้ตรงนั้น พอเราทำถูก ศีล สมาธิ ปัญญาของเราก็จะเพิ่ม เราจะตั้งอยู่ในกุศลได้

 

Q : อะไรที่จะเป็นเครื่องเตือนสติในศรัทธาที่ตั้งไว้ผิดที่

A : ท่านให้มีศรัทธาไว้ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือเป็นศรัทธาอยู่ในจิตใจของเรา ไม่ได้อยู่ภายนอก นี่เป็นโทษของศรัทธาที่ตั้งไว้ผิด ในศาสนาพุทธจึงต้องมีศรัทธาคู่กับปัญญาเสมอ เพราะปัญญาจะเป็นตัวตรวจสอบ ศีลชำระปัญญา ปัญญาชำระศีล ก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลเกิดตระหนักรู้ขึ้นมาได้

More episodes

View all episodes

  • 39. ความตายไม่เที่ยง [6739-7q]

    55:35||Season 67, Ep. 39
    Q : ทุกสิ่งเป็นไตรลักษณ์ ความตายที่เที่ยงแท้จัดเป็นไตรลักษณ์หรือไม่?A : พระสูตรปริวีมังสนสูตร ว่า “มรณะคือความตายไม่เที่ยง ความเกิดคือชาติไม่เที่ยง” อะไรก็ตามที่อยู่ในสายของปฎิจจสมุปบาททั้งหมดไม่เที่ยง คำว่า ”ไม่เที่ยง” หมายถึงมันเกิดได้ดับได้ ดับใช้คำว่า “นิโรธ” เกิดใช้คำว่า “อุบัติ” การที่ความตาย|มรณะ อุบัติ|เกิดขึ้นได้ คือ ความตายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ความตายดับ มรณะคือตายไม่ใช่ดับ นิโรธคือดับไม่เหมือนกัน จากคำกล่าวที่ว่า ความตายเที่ยงแท้แน่นอน หมายความว่าเมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องตายแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ทั้งนี้วันนี้จนก่อนถึงวันที่เราจะตาย ความตายก็อาจจะดับลงไปได้ ถ้าบรรลุพระอรหันต์ เพราะเมื่ออวิชชาดับไป ๆ ตามลำดับของปฏิจจสมุปบาท ชาติคือการเกิด ที่เป็นเหตุแห่งการตายก็จะดับไป ไม่เกิด ไม่อุบัติขึ้นอีก Q : พระภิกษุในสมัยพุทธกาล เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว แต่กายสังขารท่านยังอยู่ ในทางพุทธศาสนาชี้แจงอย่างไร?A : ท่านเปรียบไว้ดังต้นไม้ที่ตายแล้ว แม้อย่างอื่นจะร่วงหล่นไปหมด แต่จะยังมีแก่นเหลืออยู่ ทรงอยู่ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ของท่าน ยังเหลืออยู่ อย่างอื่นดับหมดแล้ว  Q : ความสุขปรุงแต่งขึ้นมาได้หรือไม่?A : ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นการปรุงแต่ง ท่านได้ให้แนวทางไว้ว่า “การปรุงแต่งที่ทำให้กิเลสเพิ่มการปรุงแต่งนั้นไม่ดี การปรุงแต่งที่ทำให้กิเลสลดการปรุงแต่งนั้นดี” ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย มรรค 8 จัดว่าเป็นยอดของการปรุงแต่งทั้งหมด
  • 38. เวทนาเป็นอนัตตา [6738-7q]

    59:31||Season 67, Ep. 38
    Q : มีความรู้สึกเหมือนไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง มีแค่ความรู้สึกที่รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ อยู่ เหมือนกำลังดูละครโรงใหญ่อยู่ สภาวะแบบนี้คืออะไร?A : ลักษณะนี้ คือ “สติ” คือ แยกตัวออก ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ ว่าจะไปตามทุกข์หรือสุขในสภาวะนั้นหรือดูเฉย ๆ หรือเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือไม่ยึดถือในสภาวะแบบนั้น นั่นคือ เรามี “สติสัมปชัญญะ” แล้ว Q : เมื่อตายแล้ว อะไรที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเอาไปด้วยได้?A : การกระทำทางกาย วาจา ใจ จะมีการสั่งสมที่จิต ทำสิ่งใดก็จะสะสมสิ่งนั้น หากยังไม่ปรินิพพาน เมื่อตายแล้ว สิ่งที่จะติดตามไปด้วยได้ คือ กุศลและอกุศลที่เราทำ แต่หากปรินิพพานแล้ว ไม่ได้เอาสิ่งใดไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่ได้เอาไปด้วย เพราะสภาวะแห่งการสั่งสมนั้นดับไป คือจิตดับไป มันจึงให้ผลไม่ได้ Q : การบรรลุไม่ได้ขึ้นอยู่กับทุกข์มากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาเห็นการเกิดดับแห่งทุกข์นั้น ใช่หรือไม่?A : ทุกข์ที่จะทำให้เห็นธรรมะได้ต้องประกอบด้วยศรัทธาและปัญญา “สุขเวทนา” คือ ทุกข์ที่ทนได้ง่าย “ทุกขเวทนา” คือ ทุกข์ที่ทนได้ยาก สิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ เงื่อนไข ปัจจัย ล้วนเป็นทุกข์ พอเราเข้าใจด้วยปัญญา เห็นทุกข์ด้วยปัญญา เราจึงจะเห็นธรรมะนั่นเอง  Q : เวลานั่งสมาธิแล้วจะคอยจ้องว่าเมื่อไหร่ จะสงบนิ่งเข้าสมาธิ ควรแก้ไขอย่างไร?A : ให้พิจารณาว่าอะไรที่เราทำแล้วสงบ เหตุแห่งความสงบคืออะไร ให้สร้างเหตุ เงื่อนไข ปัจจัย ให้ถูกต้อง เราต้องมีศีล มีกัลยาณมิตร ฟังธรรม ใคร่ครวญโยนิโสมนสิการ อยู่ในเสนาสนะอันสงัดแล้ว หมั่นทำความเพียร ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยปัญญา พอเราไปถูกทางความสงบจะเกิดขึ้นมาได้  Q : ขณะสวดมนต์อยู่ มีธรรมะผุดขึ้นในใจ ควรทำอย่างไร?A : ให้ใคร่ครวญธรรม ให้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดปัญญาในการหลุดพ้น 
  • 37. เหนือบุญเหนือบาป [6737-7q]

    57:27||Season 67, Ep. 37
    Q : ผู้ที่หยั่งรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ผู้นั้นต้องเป็นพระอรหันต์ด้วยหรือไม่?A : พระอรหันต์ย่อมทราบแน่นอนว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์แล้วQ : การได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีป เกิดขึ้นที่พุทธภูมิใด?A : อานิสงค์ของการเจริญเมตตา คือ 1) เป็นพรหมไม่ได้กลับมาเกิดอย่างโลกมนุษย์ 7 สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป 2) เป็นท้าวสักกะเทวราชหัวหน้าของเหล่าเทวดาในชั้นดาวดึงส์ 3) เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองความเป็นใหญ่ทั้ง 4 ทิศ มีแก้ว 7 ประการในโลกมนุษย์ Q :คำสอนใดของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงศรัทธาโดยไม่ได้กล่าวถึงปัญญาA : ทั้ง 2 พระสูตรนี้ คือ สีหเสนาปติสูตรและสัทธานิสังสสูตร ถึงแม้จะกล่าวถึงศรัทธาเพียงอย่างเดียว แต่ศรัทธาจะต้องประกอบด้วยปัญญาอยู่แล้ว ทั้งนี้ศาสนาพุทธ ศรัทธาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อมีศรัทธาแล้ว จึงเกิดความเพียร สติ สมาธิ และมีปัญญาเป็นอันดับสูงสุด  Q : อธิบายความหมายของคำว่า "เหนือบุญเหนือบาป"A : คนเราเมาบุญได้ เมาบาปได้ คือ ถ้าเราทำบุญมาก เราอาจจะเมาบญได้ ถ้าเราทำบาปมาก เราอาจจะเมาบาปได้ คำว่า ”เมา” คือ เพลินไป ประมาทไป ท่านจึงสอนไว้ถึงทางสายกลาง หากเราทำความดี แล้วยึดถือในความดี ความยึดถือนั้นไม่ดี เพราะความยึดถือคืออุปาทาน คำสอนท่าน จึงเหนือบุญเหนือบาป เหนือทั้งกรรมดี (บุญ) เหนือทั้งกรรมชั่ว (บาป) ให้ละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งการทำจิตให้บริสุทธิ์คือเหนือบุญเหนือบาป ลักษณะคือ ปราศจากความยึดถือ/ไม่สุดโต่ง และเห็นความเกิดขึ้นความดับไปของทั้งบุญและทั้งบาป  Q : ความแตกต่างของการคิดแบบรอบคอบจนมองโลกในแง่ร้าย กับมองในแง่ดีโลกสวยเกินไป จะใช้หลักธรรมใดในการพิจารณาA : 1) “ความคิด” มาจากภาษาบาลีว่า “วิตก” หมายถึง จิตคิดน้อมไป 2) “ดำริ” มาจากภาษาบาลีว่า “สังกัปปะ” หมายถึง อะไรที่เกิดขึ้นในหัวเรา โดยที่เราไม่ได้คิด เราอาจจะคิด|วิตก หรือ ดำริ|สังกัปปะ ไปได้ทั้งสัมมาหรือมิจฉา หากจิตเรามีมิจฉาสังกัปปะมาก เราก็ต้องวิตกไปในด้านดี เอาวิตกที่เป็นความดีมาแก้สำหรับคนที่มองโลกในแง่ดีเกินพอดี บางทีเราอาจจะถูกเอาเปรียบจากคนที่ร้าย ๆ กลับกันถ้าเรามองโลกในแง่ร้าย จิตก็จะสั่งสมอาสวะที่ไม่ดีลงไป จึงแก้ด้วยการที่อย่ามองโลกในแง่ร้าย แต่ให้เข้าใจสถานการณ์ ให้รู้จักระมัดระวัง ใครที่เป็นคนพาลก็ไม่คบด้วย จะรักษาตนไปได้  Q : การตัดความกังวลที่ทำให้เราฟุ้งซ่านจะใช้ธรรมะข้อไหน?A : ความฟุ้งซ่าน เป็นดำริ|สังกัปปะ ลักษณะคือมันเกิดขึ้นมาเอง เราไม่ได้คิดว่าเราจะกังวลเรื่องนี้ เป็นมิจฉาสังกัปปะ ให้ใช้วิตกเข้ามาแก้ โดยเทคนิคที่ครูบาอาจารย์นำมาใช้ คือ ท่องพุทโธหรือดูลมหายใจ จะกำจัดความฟุ้งซ่านได้
  • 35. สู้กับกิเลส [6735-7q]

    57:05||Season 67, Ep. 35
    Q : การใส่บาตรพระอยู่รูปเดียวเป็นการใส่บาตรที่เจาะจงหรือไม่? A : หากเราตั้งจิตไว้ว่าจะใส่บาตรเฉพาะพระรูปนี้รูปเดียวเท่านั้น เช่นนี้เป็นการเจาะจง สำคัญที่การตั้งจิตของเรา เราควรตั้งจิตไว้ว่า “เราจะให้กับสงฆ์ (หมายถึงหมู่/คณะ) โดยมีภิกษุรูปนี้เป็นตัวแทน” ตั้งจิตไว้แบบนี้ในการให้ทานจะได้บุญมากที่สุด เพราะประโยชน์เกิดขึ้นกับหลายคนและบุญที่มากกว่าการให้ทานขึ้นไปอีกขั้น คือ การรักษาศีล บุญที่มากกว่าการรักษาศีลขึ้นไปอีกขั้น คือการภาวนา เรียงตามลำดับ คือ ทาน ศีล ภาวนา  Q : การเติมพลังในการต่อสู้ชีวิตให้ดำเนินผ่านไปอย่างมีสติ A : เมื่อเราเดินตามเส้นทางแห่งมรรคแล้ว ก็จะมีเครื่องทดสอบ เข้ามาตรวจสอบ ว่าเราจะยังอยู่ในมรรคหรือไม่ เราจะเผลอเพลินไปกับ ราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าจะมาก่อนกัน ให้เราเป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีกำลังใจ มีศรัทธา มีความเพียร ต่อสู้ไม่ไหลไปตามผัสสะ  Q : ถ้าเห็นความผิดปกติของหน่วยงานราชการแล้วไปแจ้งความ จะบาปไหม?A : การห้ามเสียจากบาป ต้องห้ามด้วยความดี จะห้ามบาปด้วยบาปไม่ได้ ก่อนที่จะแจ้ง ให้เราพิจารณาในเรื่องของสัมมาวาจา ว่าสิ่งที่จะพูดเป็นคำจริง มีประโยชน์ ถูกเวลา เมื่อเขาฟังแล้วจะดีใจหรือเสียใจหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องจริง เกิดประโยชน์ แจ้งได้ไม่บาป แต่หากเราทำจิตแบบนี้ไม่ได้ ยังปรารถนาให้เขาได้ไม่ดี อันนี้ไม่ดีเป็นบาป Q : ตั้งจิตอย่างไร เมื่อพบคนไม่ดีทำไม่ดีA : เราต้องรู้จักอุเบกขาก่อน วางเฉยกับสถานการที่เกิดขึ้น และไม่หยุดที่จะทำความดี หากเราเห็นความชั่วของคนอื่นแล้วเราหยุดทำความดี เราจะเป็นบุรุษคนสุดท้าย ให้เราทำความดีต่อไป อย่าหยุดทำความดี แล้วจิตใจเราจะนุ่มนวล ไม่คิดผูกเวรกับเขา Q : เพื่อนข้างบ้านให้อาหารนกพิราบ จะวางใจอย่างไรดี?A : ให้อดทน ลองหาทางออกร่วมกัน ลองพูดคุยกันดูว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง
  • 34. รักษาเหตุได้จึงไม่เสื่อม [6734-7q]

    56:42||Season 67, Ep. 34
    Q : เคยทำกรรมไม่ดีไว้กับงูจึงทำให้กลัวงูA : ให้เราทำความดี เจริญเมตตาภาวนา ทำให้บ่อยให้มาก จะช่วยให้คลายความร้อนใจ ให้เราหาที่อยู่ให้จิต เช่นมีสมาธิอยู่กับการงานที่ทำฟังเทศน์หรือดูลมหายใจ ก็จะช่วยให้จิตมีเครื่องอยู่ไม่ฟุ้งซ่าน Q : ใช้การภาวนาคาถาแทนการดูลมหายใจได้หรือไม่? A : ได้..ใช้วิธีไหนก็ได้ในอนุสติ 10 คำสอนของท่านสามารถปฎิบัติเข้ามาได้โดยรอบ ทุกวิธีที่ท่านสอนจะมารวมลงไปตามทางในมรรค 8  Q : เทคนิคแก้ฝันร้าย A: ก่อนนอน ให้กำหนดสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อิริยาบถในการนอนแล้วเจริญเมตตา มุทิตา กรุณา อุเบกขา น้อมจิตไปเพื่อการนอน กำหนดจิตว่า รู้สึกตัวเมื่อไหร่จะลุกขึ้นทันที ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ว่า “ขอให้บาปอกุศลอย่าได้ตามเราผู้ที่นอนอยู่” แล้วบาปอกุศลจะไม่ตามเราไป เพราะเราตั้งสติไว้แล้ว Q : ทิศทางสู่นิพพานในขณะที่ยังเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนA : มรรค8 เป็นทางเดิน ทางเดียว ที่จะไปสู่นิพพานได้ Q : การเจริญมรรคของฆราวาสต้องเจริญแบบไหนจึงจะชื่อว่าทางสายกลางA : ให้เอาศีลเป็นหลัก มีกัลยาณมิตรดีที่จะไปทางเดียวกัน มีมรรคเป็นเกณฑ์ ถ้าออกนอกมรรคก็ให้ตั้งสติ ปรับจิตใจ ทำความเพียรให้มาก จะพัฒนาไปได้ Q : ควรจะแก้ไขอย่างไร เมื่อนั่งสมาธิแล้วหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ท้อ ไม่อยากทำต่อ? A : ถีนมิทธะเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้สงบ ให้ระลึกถึงตรงจุดที่เราทำได้ จดจ่อตรงที่ทำได้ พอเราตั้งสติได้ จิตก็จะมีพลังมากขึ้น ให้เราฝึกทำให้ชำนาญ  Q : สมาธิเสื่อมได้หรือไม่ ถ้าได้เกิดจากเหตุปัจจัยใด? A : เสื่อมได้..มรรค 8 เป็นสังขตธรรม คือเป็นธรรมะที่มีการปรุงแต่ง เมื่อมีการปรุงแต่งก็หมายความว่าต้องอาศัยเหตุ ถ้าเหตุที่ทำให้เกิดสมาธินั้นเสื่อมไป สมาธิก็เสื่อมไป เราต้องรักษาเหตุเอาไว้ เหตุของสมาธิ คือสติสัมมาทิฐิโดยมีศีลเป็นพื้นฐานถ้าเหตุเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปสมาธิก็เสื่อมได้
  • 33. อริยปัญญา [6733-7q]

    55:11||Season 67, Ep. 33
    Q : จะวางจิตอย่างไร ให้ไม่ยินดียินร้ายอย่างถูกต้องA : การเสพโซเชียล ดูคลิป ฟังเพลง มันเป็นกับดัก ทำให้เสพติด เพลินไปในอารมณ์นั้น หากเราเสพสิ่งใดแล้ว ราคะ โทสะ โมหะเพิ่มขึ้น นั่นไม่ดี วิธีคลายเครียดทำได้หลายวิธี เช่น ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฟังธรรม คือให้เราไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นทางกาม พอเราหลีกออกจากกาม จิตจะมีกำลัง จะไม่ค่อยถูกดึงไป จะมีภูมิต้านทาน ทำเช่นนี้จิตเราจะไม่ไปขัดเคืองกับกาม จะวางจิตให้ไม่ยินดียินร้ายได้อย่างถูกต้อง Q : ตามปกติแล้วนามรูปมีการดับอยู่เสมอตลอดเวลา จริงหรือไม่?A : เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นของเกิดได้ ดับได้ เข้าใจด้วยปัญญาว่า ตอนมันยังไม่แตก มันเป็นของดับได้ ตอนที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นของดับได้ ตอนที่มันคงอยู่ ก็เป็นของดับได้ ตอนที่มันแตกไป แล้วมันก็เป็นของเกิดได้ เกิดได้ดับได้ เพราะมีเหตุปัจจัย เข้าใจตรงนี้เพื่อที่จะไม่ยึดถือ เราจะเกิดความเข้าใจตรงนี้ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตาม “มรรค 8”  Q : ไม่ต้องใช้มรรค 8 ก็ดับนามรูปได้ จริงหรือไม่?A : นามรูปเกิดหรือดับได้เพราะวิญญาณ ไม่ว่าโลกนี้จะมีหรือไม่มีมรรค 8 มันก็เกิดดับของมันอยู่แล้ว มรรค 8 เป็นหนทางเอก หนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจการเกิดขึ้น การดับไป และการปล่อยวาง แล้วไม่ยึดถือ ความเข้าใจนี้เป็นอริยปัญญา ซึ่งหากจะบอกว่าไม่ต้องใช้มรรค 8 แล้วจะปล่อยวาง ทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด  Q : เมื่อจำเป็นต้องกำจัดยุงลาย ควรตั้งจิตอย่างไร เพื่อบรรเทาความรู้สึกผิดบาปในใจA : บาปกับบุญคนละบัญชีกัน ท่านเปรียบไว้กับเกลือคือบาป ละลายในน้ำ น้ำคือบุญ ผลของความเค็มคือการให้ผล บาปมากน้อยให้เราเอาเกณฑ์ในการพิจารณา 3 อย่าง คือ 1) เจตนา 2) ประเภทของสัตว์ ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ มีคุณน้อยไปถึงมีคุณมาก 3) น้ำที่สร้าง (บุญ) การเกิดในวัฏฏะต้องมีการเบียดเบียนกัน ถ้ายังมีการเกิดต่อไปก็ต้องมีทุกข์ เมื่อเราเห็นโทษของการเกิด ถ้าเรามีความสบายใจ เกิดสมาธิ มีการโยนิโสมนสิการ แล้วเกิดปัญญา จะเป็นทางที่จะพ้นทุกข์ได้
  • 32. รับมือกับความเครียด [6732-7q]

    58:18||Season 67, Ep. 32
    Q : วิธีจัดการกับความเครียดกดดัน ?A : ในการทำงาน หากเราตั้งไว้ด้วยความอยากว่า อยากมีชื่อเสียง อยากประสบความสำเร็จ ความอยากนั้นจะเป็นตัณหา เราควรตั้งไว้ด้วยความเพียรคือวิริยะ ที่เป็นความเพียรที่ไม่ประกอบด้วยความอยาก คือเริ่มจากมีสติจดจ่ออยู่ในงานปัจจุบัน ใช้หลักธรรม คือ “อิทธิบาท 4” มีสมาธิเป็นตัวประสาน มีเมตตาต่อกัน สามัคคีกัน สร้างสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนการทำงาน โครงการก็จะสำเร็จได้Q : คนที่เป็นซึมเศร้าแล้วมีธรรมะใดที่จะทำให้จิตใจดีขึ้นบ้าง?A : โรคซึมเศร้า เป็นนิวรณ์อย่างหนึ่ง ที่มีกำลังมากเรียกว่า “ถีนมิทธนิวรณ์” ลักษณะคือจิตคิดวนไปในเรื่องที่ไม่พอใจ เศร้าใจ คิดวนไป ๆ จนกระทั่งอารมณ์ทางจิตมีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ให้เราตั้งสติให้คิดไปในเรื่องอื่น คือให้เอาสิ่งอื่นมาทดแทน เช่น ออกไปข้างนอก ไปทำกิจกรรมที่ไม่เป็นไปในทางกาม เช่น ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อ่านหนังสือ หรือไปเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้คิดเรื่องที่หลีกจากกาม พอจิตเราเป็นสมาธิก็จะกำจัดนิวรณ์นี้ออกไปได้  Q : การใส่บาตรให้พระสงฆ์ที่เลือกรับของในบาตรจะได้บุญหรือไม่?A : ได้บุญ เพราะเราตั้งจิตไว้แล้ว ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น เราควรตั้งจิตไว้ว่า “เราถวายพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตั้งจิตว่าจะถวายพระอริยะเจ้าทั้งหลาย โดยมีพระภิกษุสงฆ์รูปนี้ เป็นตัวแทนในการรับ” พอเราตั้งจิตไว้ถูก บุญที่ได้จะมาก  Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราภาวนาเป็นหรือไม่เป็น?A : การภาวนาคือการพัฒนา เป็นการทำให้เจริญ เมื่อเราภาวนาต้องได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ท่านได้พูดถึงกำลังของพระเสขะ ที่ประกอบไปด้วยศรัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ และปัญญา การที่เรานั่งสมาธิแม้จะยังไม่ได้สมาธิ เราก็ได้ความเพียร ความเพียรก็มาจากศรัทธา เรามีศรัทธา มีความเพียร เกิดการลงมือทำจริง ความเพียรเราก็เพิ่ม ศรัทธาเราก็เพิ่ม ให้เราฝึกฝนทักษะ จะพัฒนาก้าวหน้าได้ Q : มีวิธีการจัดการกับความอิจฉาริษยาอย่างไร?A : ใช้คุณธรรมคือมุทิตา แปลว่า ความยินดีที่เขามีความสุข ยินดีที่เขาได้ความสำเร็จ 
  • 31. เข้าใจทุกข์จะพ้นทุกข์ [6731-7q]

    58:59||Season 67, Ep. 31
    Q : ขณะนั่งสมาธิ รู้สึกเคลิ้ม ลืมคำภาวนา ลืมลมหายใจA : ลืม เผลอ เพลิน คือการขาดสติ แต่ถ้ารู้ว่าดับ เห็นอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นคือมีสติ  Q : ขณะกำหนดจิตบริกรรมพุทโธ ระหว่างนั้นครูบาอาจารย์ท่านก็พูดสอนอยู่ด้วย ควรกำหนดสติไว้กับอะไร?A : ตั้งสติไว้ตรงช่องทางที่เสียง ที่จะเข้ามาสู่หูเรา เอาจิตไว้ที่โสตวิญญาณ คือ การรับรู้ทางเสียงนั้น Q : ถ้าปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ (หลุดพ้น) ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอีก ถูกต้องหรือไม่?A: คำว่า "ไม่ต้องปฏิบัติอีก" สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า “การเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” เรียกว่า “วิมุตติญาณทัสสนะ” คือ ไม่ต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุแล้วเพราะพ้นได้แล้ว แต่ยังคงต้องรักษาศีล เจริญมรรค 8 อยู่ เพื่อรักษาสภาวะนี้ เพื่อให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน Q : เข้าฌาน 1 แล้วพิจารณากายนี้ ถือว่าเป็นวิตกวิจารหรือเป็นวิปัสสนาแล้ว?  A : ฌาน 1 ยังมีวิตกวิจาร หากพิจารณากายบุคคลอื่น ในลักษณะที่เป็นภาพ เสียง ถือว่าเป็น วิตกวิจาร แต่หากพิจารณากายแล้วเห็นความไม่เที่ยงในกาย นั่นเป็นวิปัสสนา คือ เหนือจากฌาน 1 ขึ้นไป  Q : วิธีต่อสู้กับกิเลส ที่เมื่อตื่นนอนขึ้นมาควรลุกทันที แต่ทำไม่ค่อยได้? A : ให้เราฝึกตั้งแต่ก่อนนอน ขณะที่อยู่ในอิริยาบถนอน แล้วตั้งสติไว้ว่า “รู้สึกตัวเมื่อไหร่ จะลุกขึ้นทันที จะไม่ยินดีในการเคลิ้มหลับ จะไม่ยินดีในการนอน” แล้วน้อมจิตไปเพื่อการนอน ตั้งสติไว้ว่า “บาปอกุศลอย่าตามเราไป ผู้ที่นอนหลับอยู่” ทำบ่อย ๆ จะพัฒนาขึ้นได้ Q : ทุกข์ของพระพุทธเจ้าคืออะไร แล้วทุกข์ที่เราเจอ ใช่ตัวเดียวกันหรือไม่? A : ทุกข์ของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นโพธิสัตว์นั้น ก็เป็นทุกข์เดียวกันกับเรา ทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากสิ่งที่น่าพอใจ พบเจอกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจไม่น่าปรารถนา พอท่านพบว่า เหตุที่เกิดทุกข์คือการเกิด จะทำให้ทุกข์นี้ดับไป ก็ต้องดับการเกิด ท่านจึงปฏิบัติตามมรรค 8 ทุกข์ก็ดับไป พ้นจากทุกข์ได้ ส่วนหากถามถึงทุกข์ตอนที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนั้น ท่านทรงพ้นจากทุกข์แล้ว เพราะค้นพบทางพ้นทุกข์ ทุกข์จึงดับไป  Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้ว จะไปดีหรือไม่?A : จะรู้ข้อนี้ได้ต้องมีจุตูปปาตญาณ