Share

cover art for การระลึกชาติ [6719-7q]

7 ตามใจท่าน (ธรรมะสากัจฉา)

การระลึกชาติ [6719-7q]

Season 67, Ep. 19

Q : การระลึกชาติได้ มีจริงไหม?

A : การระลึกถึงไม่ว่าจะระลึกถึงอดีตหรืออนาคตก็ระลึกถึงอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเรามีอดีตนั่นก็หมายความว่าเรามีปัจจุบันและอนาคต ในตำราไว้ว่าการระลึกชาติก่อนได้เป็นความสามารถในส่วนของปัญญาเรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือปัญญาที่ทำให้ระลึกตามได้ว่าเมื่อก่อนเป็นอะไรอยู่ที่ไหน โดยเหตุแห่งการระลึกชาติได้นั้นคือสมาธิต้องมีสมาธิจึงจะมีปัญญา ในข้อนี้ท่านกล่าวถึง “อภิญญา5” เตือนเอาไว้ว่าหากคนไม่ศรัทธาไม่เชื่อก็จะบอกว่านั่นเป็นเพียงมายากลคือมีปัญญาแต่ไม่มีศรัทธา หากคนที่ศรัทธาอย่างเดียวก็จะถูกหลอกได้ง่ายคือมีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นศรัทธาและปัญญาจึงต้องไปด้วยกันสองอย่างต้องพอ ๆ กันเราจึงจะเข้าใจรู้เห็นสิ่งของที่พิเศษนี้ได้

 

Q : ทำบุญให้ทานเพราะโลภได้บุญหรือไม่?

A : การให้ทานนั้นได้บุญ แต่หากให้ทานแล้วมีความโลภ บุญที่ได้นั้นจะเศร้าหมอง การเดินตามมรรค 8 จะทำให้ความเศร้าหมองลดลง เป็นกระบวนการที่เมื่อเราทำแล้วความอยากก็จะลดลงไปด้วย ดั่งที่พระอานนท์ท่านกล่าวไว้ว่า “เจริญฉันทะเพื่อลดฉันทะ” 

 

Q : สมาธิที่มากเกินไปทำให้เกียจคร้าน ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไป จริงหรือไม่ ?

A : สมาธิถ้ามันไม่สมดุลกับความเพียร ความเพียรน้อยไปสมาธิมากไปก็จะทำให้เกียจคร้าน แต่ถ้าความเพียรมากไปสมาธิน้อยไปก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นมันต้องประกอบกันทั้งหมดให้เหมาะสม ในลักษณะที่ให้จิตเราละอาสวะกิเลสได้ 

 

Q : คนมักใช้คำว่า "อนิจจังไม่เที่ยง" เพื่อปลอบใจให้คลายทุกข์แต่พอสบายใจแล้วก็ปล่อยปะละเลยไป

A : ท่านยกเรื่อง “โลกธรรม 8” เราต้องเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสิญ นินทา สุข ทุกข์ หากเราเข้าใจฝั่งเดียว เช่น ได้ลาภแล้วเรายินดีเพลิน พอใจ ไปในลาภยศนั้น ไม่ได้เข้าใจอีกฝั่งว่าลาภก็เสื่อมได้ มัวเพลิน พอใจไปในลาภนั้น ซึ่งความเพลิน ความพอใจนั้น คือ อุปาทาน (ความยึดถือ) เมื่อความยึดถือเกิดขึ้นตรงไหน ตรงนั้นจะเกิดเป็นตัวตนขึ้นทันที ทำให้เราเข้าไปยึดถือในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ทุกข์จึงเกิดขึ้นทันที

 

Q : "พระพุทธองค์ทรงย่อโลกให้มาอยู่ในตัวเรา" หมายความว่าอย่างไร?

A : การรับรู้สิ่งต่าง ๆ จากภายนอก ล้วนรับรู้ด้วยกายของเรา เช่น เราได้ยินเสียงก็ด้วยหูของเรา เราเห็นแสงก็ด้วยตาของเรา ท่านจึงบอกว่าอยู่ในกายของเรา คำว่า “อยู่ในกาย” หมายถึง ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ไฟ ลม) อยู่ในกายนี้ ถ้ามองจากข้างนอก ก็คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ข้างในก็จะเป็น เนื้อ เอ็น กระดูก คือ อยู่ในกายนี้ ข้างนอกอย่างไรข้างในก็อย่างนั้น มันไม่เที่ยงเหมือนกัน มันอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งเหมือนกัน ด้วยความเข้าใจตรงนี้ จึงไม่ยากหากเราจะเข้าใจจากข้างใน ก็จะไม่เพลินไปได้ 

More episodes

View all episodes

  • 25. เห็นความยึดถือด้วยปัญญา [6725-7q]

    55:38
    Q: อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นตรงไหน? A: อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกสั้น ๆ ว่า “ไตรลักษณ์” เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง คือสิ่งที่เป็นระบบสมมุติทั้งหมด ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม ทุกอย่างที่เป็นขันธ์ 5 เป็น อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เรียกว่า “สังขตธรรม” คือ ธรรมที่ยังอยู่ในการปรุงแต่งได้ทั้งหมด จะมีคุณสมบัติของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทุกที่อยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ ลักษณะของสังขตธรรม คือ มีการเกิดปรากฏ มีความเสื่อมปรากฏ เมื่อตั้งอยู่มีภาวะอื่น ๆ ปรากฏ ส่วนธรรมะที่ไม่มีการปรุงแต่ง (นิพพาน) เรียกว่า “อสังขตธรรม” ลักษณะของอสังขตธรรม คือ ไม่มีการเกิดปรากฏ ไม่มีความเสื่อมปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ไม่มีภาวะอื่น ๆ ปรากฏ    Q: จะเห็นปัญญาแท้จริงได้ในสิ่งที่เรายึดถือเราจะเห็นได้อย่างไร? ใครเป็นผู้เห็น ? A: การที่เราไม่เห็น มี 2 แบบ คือ 1) ไม่เห็นเพราะเราไม่ยึดในสิ่งนั้น 2) ไม่เห็นแล้วเราจึงยึด ยึดเพราะเราไม่เห็น เพราะเราเพลินพอใจ พอเราเพลินเราพอใจในสิ่งใด สิ่งนั้นคืออุปาทาน (ความยึดถือ) การที่เราจะรู้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็ต้องตรงที่เราไม่รู้ ตรงที่เรายึดถืออยู่ เราจะเห็นตรงที่เรายึดถือได้ ก็ด้วยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คือ “ภาวนามยปัญญา” เราจะมีภาวนามยปัญญาได้ ก็ด้วยการที่เรามีศรัทธา อาศัยการฟัง (สุตตมยปัญญา) การฝึกสติ สมาธิ ทำความเพียร (วิริยะ) ทำความเข้าใจ ใคร่ครวญ (จินตมยปัญญา) เราต้องทำตามมรรค 8 เพื่อปัญญาที่เป็น “โลกุตรปัญญา” เกิดขึ้น เราจึงจะเห็นสิ่งที่เป็นนิจจัง ว่าเป็นอนิจจัง จึงจะเห็นสิ่งที่เป็นสุขขัง ว่าเป็นทุกขัง จึงจะเห็นสิ่งที่เป็นอัตตา ว่าเป็นอนัตตา
  • 24. เข้าใจทุกข์ด้วยปัญญา [6724-7q]

    59:47
    Q : คิดนึกโกรธด่าว่าอยู่ในใจแต่ไม่ได้พูดออกมา จะถือว่าบาปแต่ไม่ผิดศีลใช่หรือไม่?A : อยู่ที่ว่าเรานับสัมมาวาจาอีก 3 ข้อ คือ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เข้ามาเป็นศีลด้วยหรือไม่ การเตือนตนด้วยตนเป็นสิ่งดี ให้เราฝึกปฏิบัติให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะเกิดการพัฒนารักษากายวาจาใจได้ Q : จากนิทานพรรณา "ผู้รู้เสียงสัตว์" ถ้าไม่มีญาณวิเศษนี้เราจะดำรงตนในธรรมได้อย่างไร? A : การพ้นทุกข์ได้จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องรู้เสียงสัตว์ก็ได้ ถ้าเราจะรอดปลอดภัยจากวัฎฎะต้อง “อาสวักขยญาณ” คือญาณในการรู้อริยสัจสี่ เป็นทางเอกเป็นทางเดียวที่จะรอดพ้นจากวัฏสงสารได้ Q : การละวาง การปล่อยวาง การวางเฉย มีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?A : สามคำนี้เป็นคนละคำคำว่า “ละวาง” ในที่นี้หมายถึง การละคือปหานะ คือกำจัดทิ้งเสีย ใช้กับตัณหากับสิ่งที่เป็นอกุศลเท่านั้น คำว่า“ปล่อยวาง” (ใช้กับขันธ์ 5) หมายถึง การวิราคะคือวิมุต คือพ้นแล้วก็ปล่อยวาง ซึ่งจะเป็นส่วนของมรรค 8 ใช้ตามสายของมรรค คำว่า “วางเฉย” หมายถึง อุเบกขาเวลามีอะไรมากระทบแล้ววางเฉยได้ / ละวางกับปล่อยวาง การจะละวางขันธ์ 5 ต้องเข้าใจขันธ์ 5 เข้าใจกายโดยความเป็นของปฏิกูล พอเข้าใจกายโดยความเป็นของปฏิกูลแล้วเห็นตามความเป็นจริง จะมีนิพพิทาคือความหน่าย มีวิราคะคือความคลายกำหนัด ปล่อยวางได้ ละได้ ตรงนี้คือวิมุตคือพ้น ระหว่างนิพพิทากับวิมุตก็ต้องมีการปล่อยวางตรงนี้ซึ่งเกิดขึ้นกับขันธ์ 5 Q : "ชวนจิต"มีความสัมพันธ์กับการทำสมาธิและวิปัสสนาอย่างไร ทำไมต้องมี 7 ขณะ?A : เป็นเรื่องของอภิธรรม Q : ควรมีความอดทนหรือปล่อยไปตามกรรม? A : หน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรมีต่อลูก คือ ห้ามลูกเสียจากบาป ให้ลูกตั้งอยู่ในความดี หากพ่อแม่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เมื่อลูกโตขึ้นก็จะบอกยาก ต้นเหตุจริง ๆ ต้องแก้ที่พ่อแม่ ในจุดที่เราเป็นพี่น้อง ให้เรามีพรหมวิหารสี่และหาช่องในการที่จะอุปการะเขา ให้เกิดประโยชน์ทั้งตนและเขา หากเขายังแก้ไม่ได้ ก็ให้มีอุเบกขา ตั้งจิตไว้ อย่าให้จิตมีอกุศล ระมัดระวังความคิด อย่าเอาความอยากเป็นตัวนำ หากเขาโกรธมาให้เราเมตตาตอบ หากเขาด่ามาให้เราอดทน ถ้าเขาไม่ดีมาเราก็ต้องแยกแยะให้เขาเห็น เราจึงจะแก้ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราตั้งจิตไว้ด้วยกับพรหมวิหารสี่ คนรอบตัวเราจะได้กระแสจากเราแน่นอน Q : หากต้องนอนบนเตียงนาน ๆ เหมือนผู้ป่วยติดเตียง ควรนำธรรมะข้อใดมาปฏิบัติจึงจะผ่านพ้นไปได้? A : สำหรับผู้ที่เตรียมตัวมา ก็จะอยู่ด้วยความผาสุกได้ คือจิตสงบมีเครื่องอยู่ หากไม่ได้เตรียมตัวก็จะไม่ผาสุก วุ่นวายใจ รับไม่ได้ เมื่อรับไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ให้เข้าใจทุกข์ เห็นทุกข์ได้ด้วยปัญญาตามมรรค 8 อยู่กับมันได้ ทุกข์ก็ลดลง
  • 23. ตายอย่างผาสุก [6723-7q]

    56:48
    Q : การมีอายุยืน (Longevity) และการตายแบบสบายๆ (Pin Pin Korori)A : การมีอายุยืน (Longevity) ที่ประเทศญี่ปุ่น บนเกาะโอกินาว่า หมู่บ้านโอกิมิ มีคนที่อายุเกิน 100 ปี อยู่หนาแน่น โดยมีสุขภาพแข็งแรง หูไม่ตึง สามารถทำงานได้ ขี่จักรยานได้ สายตาเห็นชัดเจน / การตายแบบสบาย ๆ (Pin Pin Korori) เป็นการตายไปเฉย ๆ ไม่ใช่อุบัติเหตุ ไม่ทุรนทุรายหรือป่วย เป็นการไหลตายไปเฉย ๆ เป็นท่าที่เขาตายเป็นลีลาการตายในลักษณะนั้น Q : การตายอย่างผาสุกในทางพุทธศาสนาA : การตายอย่างผาสุกนั้นไม่เกี่ยวกับลีลาหรือท่าทางการตาย แต่ขึ้นอยู่กับจิตเป็นสำคัญ ที่ว่าเมื่อความตายมาถึงแล้วจะยังเป็นความตายอย่างผาสุกได้ ท่านสอนไว้ถึงเรื่อง “ความเพียร ที่พึงกระทำ ปรารภภัยในอนาคต 5 ประการ” เมื่อความตายมาถึงแล้วธรรมะอะไรที่เราควรที่จะต้องบรรลุควรจะต้องรู้ควรจะต้องเข้าใจควรจะต้องทำให้แจ้งธรรมะนั้นคือ “มรรค 8”   Q : ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญA : ถ้าชีวิตของเราจะอยู่ไม่พ้นคืนนี้ มีราตรีนี้เป็นคืนสุดท้าย สิ่งที่จะรีบทำจิตใจเลยคือ (1) ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว (2) ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง (3) ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมปัจจุบัน พึงพิจารณาธรรมนั้นพึงทำความเพียรเสียในวันนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน เรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ว่า “ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” Q : จะมีวิธีระงับอารมณ์ไม่ให้ระเบิดความโกรธออกมาโดยเรียกสติกลับมาได้อย่างไร?A : ถ้าเรารู้ว่าเรามีปัญหาตรงไหน เราจะสามารถแก้ได้แน่ การที่เราสังเกตเห็นนั่นแสดงว่าเรามีสติ ถ้ามีสติตรงไหนจะละได้ตรงนั้น มีสติตรงไหนจะพัฒนาความดีให้เกิดได้ตรงนั้น ให้เราฝึกพัฒนาสติทั้งในรูปแบบนั่งสมาธิให้สติมีกำลัง และฝึกสติระหว่างวันฝึกให้มีสัมปชัญญะอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เมื่อเราฝึกพัฒนาสติแล้วเวลาเราทำสมาธิสมาธิจะละเอียดลงลึก ๆ จะช่วยเกื้อหนุนเกื้อกูลกัน พอเราเผลอเพลินไปในความโกรธเราก็จะรู้ตัวเร็วขึ้น ละความโกรธได้เร็วขึ้น
  • 22. คิดให้ถูก คิดให้เป็น [6722-7q]

    56:16
    Q: ให้ทานกับขอทานที่ยากจน ได้บุญมากกว่าขอทานที่ร่ำรวยใช่หรือไม่?A: การที่จะได้บุญมากหรือน้อยไม่ได้เกี่ยวกับปริมาณเงินของผู้ให้หรือฐานะของผู้รับ แต่ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ให้และผู้รับ คุณสมบัติของผู้ให้ คือ ต้องมีศรัทธา ทั้งก่อนให้ ระหว่างให้และหลังให้ คุณสมบัติของผู้รับ คือ เป็นผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะน้อย Q: ความเศร้าหมองจากการให้ทานเกิดจากอะไร?A: ความเศร้าหมองของบุญ อยู่ที่ 3 องค์ประกอบ คือ “ผู้ให้” (มีศรัทธาแล้วมีศีลหรือไม่) “ผู้รับ”(มีศีลหรือไม่) และ “สิ่งของ” (หากสิ่งที่นำมาถวาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บุญก็จะเศร้าหมอง) Q: ทำบุญเอาหน้า จะได้บุญมากหรือน้อย?A: หากทำบุญอาศัยความโลภ บุญก็จะได้น้อย แต่ทำ ดีกว่าไม่ทำ เราควรสละออก ตั้งจิตให้ดี ทำดี ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป Q: ฝันว่ากระทำไม่ดี จะเป็นบาปหรือไม่?A: เมื่อเราไม่ได้ลงมือทำจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นบาปของเรา แต่หากเรามีอารมณ์ร่วม คือเราเพลินไปตามแล้ว นั่นเป็นกรรม เป็นมโนกรรม Q: การที่สามีภรรยาอยู่กันคนละที่ ควรจะพิจารณาและทำให้เป็นไปตามหน้าที่ของทิศเบื้องหลังต่อกันอย่างไร?A: ฝ่ายภรรยา ควรจัดการงานให้เหมาะสมเรียบร้อย, สงเคราะห์คนข้างเคียงสามี เช่น พ่อ แม่ ลูกน้อง, ไม่นอกใจ, รักษาทรัพย์ที่หามาได้, ขยันไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง ฝ่ายสามี ควรยกย่องภรรยา, ไม่ดูหมิ่น, ไม่นอกใจ, มอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้, ให้เครื่องประดับ ทั้งฝ่ายภรรยาและสามี ควรบริหารจัดการ ป้องกันให้ดี เพื่อไม่ให้ต้องทะเลาะกัน Q: ในทางธรรมจะอธิบายคำว่า "ต้องคิดเป็น" อย่างไร?A: ท่านให้แนวทางไว้ว่า ถ้าจะคิด อย่าคิดเบียดเบียนคนอื่น อย่าคิดเบียดเบียนตนเอง ถ้าจะคิด ให้คิดเรื่องที่เป็นกุศล อย่าคิดเรื่องที่เป็นอกุศล ให้เป็นผู้ที่เห็นถูก|สัมมาทิฐิ คือ พ่อแม่มี กรรมดีกรรมชั่วมี สัตว์ที่อยู่ในภพอื่นมี เทวดามี สัตว์นรกมี การบรรลุธรรมมี และคิดมาในแนวทางอริยะสัจ4 นั่นคือ คิดเป็น คิดถูก ต้องทำในใจให้แยบคาย ต้องมีความแยบคายในการปฏิบัติ คือ “โยนิโสมนสิการ” Q: การปรับใช้ โยนิโสมนสิการ ในชีวิตประจำวันA: อะไรที่เป็นบาปนั่นไม่ใช่โยนิโสมนสิการ อะไรที่เป็นบุญ เช่น มีเมตตาต่อกัน นั่นคือ โยนิโสมนสิการ Q: ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นอย่างไร จะระงับมันได้อย่างไร?A: ความคิดปรุงแต่งเปรียบดังกระแสน้ำ บางทีกระแสน้ำมันไหลแรง เราไม่สามารถควบคุมกระแสน้ำได้ เราก็อย่าไปอยู่ในน้ำ ให้ออกมายืนริมฝั่ง สติคือริมฝั่ง คือให้เราตั้งสติ จิตเราพอไม่ตริตรึกไปเรื่องไหน เรื่องนั้นก็จะอ่อนกำลัง เราก็จะรักษาจิตไว้ด้วยสติได้ ไม่ใช่ว่าไปห้ามการปรุงแต่ง
  • 21. คุณสมบัติของทุกข์ [6721-7q]

    52:27
    Q : ธรรมะ 5 ข้อ ที่เมื่อผู้ฟังอยู่สามารถที่จะหยั่งลงสู่ความเห็นที่ถูกต้องได้ จำเป็นต้องมีครบทั้ง 5 ข้อหรือไม่ ?A : ธรรมะ 5 ข้อ คือ1) ไม่วิพากษ์วิจารณ์คำพูด 2) ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้พูด 3) ไม่วิพากษ์วิจารณ์ตน 4) เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน 5) ฟังธรรมมนสิการโดยแยบคาย หากไม่สามารถปฎิบัติได้ทั้ง 5 ข้อ ก็ควรปฏิบัติในข้อที่มีจิตไม่ฟุ้งซ่านคือจิตเป็นสมาธิ และข้อที่ฟังธรรมมนสิการโดยแยบคายคือวิปัสสนา ประกอบกัน 2 ส่วนทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่ถ้าหากปฏิบัติได้ครบทุกข้อจะดีที่สุด Q : คำว่า อีโก้ (Ego) สูง เจ้ายศเจ้าอย่าง ยึดถืออัตตาตัวตนสูง อุปาทานในขันธ์ 5 มีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?A : คำว่าอีโก้สูง เจ้ายศเจ้าอย่าง อัตตาตัวตนสูงในทางคำสอน หมายถึง ความมี “มานะ” คือความรู้สึกเป็นตัวตน “อุปาทาน” หมายถึง ความยึดถือ “ขันธ์ 5” หมายถึง กองของทุกข์ 5 กอง (กองของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) / อุปาทานขันธ์ 5 ไม่ใช่มานะ แต่เพราะมีความยึดถือในขันธ์ 5 จึงเกิดมานะ อุปทานเกิดจากตัณหา อุปาทานก็ตาม ตัณหาก็ตามเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีการเกิด (การก้าวลง) หมายถึง จิตดิ่งปักลงไปว่า “สิ่งนี้มีในตน ตนมีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตน ตนเป็นสิ่งนั้น” เมื่อมีการก้าวลงจึงมีอัตตาขึ้นมา   Q : ถ้าเรามีอุปาทานความยึดถือควรแก้ไขอย่างไร?A : ปฎิบัติตามมรรค 8 ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา เราจะไม่เพลินไม่พอใจ เมื่อไม่เพลินไม่พอใจความยึดถือก็จะไม่เกิด เมื่อเกิดไม่ได้ความยึดถือก็ดับไป ความเป็นตัวตนมานะก็ดับไป   Q : วิธีละสักกายทิฏฐิอัตตาตัวตน?A : ถ้าเรามีสัมมาทิฎฐิมีปัญญาที่จะเข้าใจว่า มันไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่เที่ยง ไม่เป็นของเฉพาะตนคือเป็นอนัตตา ตั้งสติไว้ตรงรอยต่อระหว่างกายใจคือผัสสะ เราจะควบคุมสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ก็ต้องตั้งสติไว้ตรงนั้น ถ้าเราควบคุมได้รักษาไว้ได้ด้วยสติ จะทำให้เราเข้าใจถูกว่าเราไม่มีตัวตน ถ้าเรารักษาผัสสะได้ ความรู้สึกที่เป็นตัวตนจะลดลง ละสักกายทิฎฐิได้
  • 20. แก้ความคิดอกุศล [6720-7q]

    54:44
    Q : เมื่อมีความคิดในทางลบทางอกุศล ควรทำอย่างไร?A : จิตเมื่อตริตรึกไปในสิ่งไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง หากเราลืมเผลอเพลินนั่นคือเราไม่มีสติ เราต้องตั้งสติด้วยการเจริญอนุสติ 10 เจริญสติปัฎฐาน 4 เมื่อสติเรามีกำลังก็จะสามารถสังเกตแยกแยะ จะทำให้ความคิดที่ผ่านเข้า-ออกถูกป้องกันให้อยู่ในกุศลธรรมได้ดีมากขึ้น เปรียบดังกับยาม (สติ) จะอยู่ที่ประตู (ใจ) ได้ ก็ต้องมีป้อมยาม (ลมหายใจ) สังเกตดูคนเข้า-ออก (ความคิดที่ผ่านไป-มาดีบ้างไม่ดีบ้าง, กลิ่นอาหารที่ผ่านเข้า-ออกทางรูจมูก, เสียงที่ผ่านเข้าออกทางช่องทางหู) ซึ่งยามจะสังเกตดูได้ก็ในป้อมยามนี้ Q : จิตกับความคิดไม่ใช่อย่างเดียวกันA : จิตก็อย่างหนึ่งความคิดก็อย่างหนึ่งใจก็อย่างหนึ่ง เราจะเลือกที่จะให้จิตคิดหรือไม่คิดเราต้องเลือกได้ เราจะคิดหรือหยุดคิดเราต้องเลือกได้ เราต้องตั้งสติสังเกตได้ จุดที่เราตั้งไม่ได้เพราะเราเพลินไป พอเรายับยั้งได้ฉุกคิดได้ตั้งสติได้นั่นคือไม่เผลอไม่เพลิน  Q : โลกียฌานและโลกุตรฌานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?A : ทั้งโลกียฌานและโลกุตรฌานล้วนต้องอาศัยสติมีสมาธิเหมือนกัน ฌานคือการเพ่งการเอาจิตจดจ่อ สมาธิคือการรวมลงเป็นอารมณ์อันเดียว ส่วนโลกียฌานคือสมาธิที่ยังเกี่ยวเนื่องกับโลกกับของหนักมีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ โลกุตรฌานคือการนำสมาธิที่เป็นสัมมาทิฐิมาใช้ให้อยู่ในลักษณะเหนือบุญเหนือบาป เห็นโดยความเป็นของปฏิกูล เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นตามอริยสัจสี่แบบนี้คือจะไปสู่ระดับเหนือโลกเหนือบุญเหนือบาป Q : จิตตั้งมั่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน 4 เหมือนกัน เข้าใจถูกหรือไม่? A : สัมมาสติคือสติปัฏฐาน 4 จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิสมาธิ ทำให้เกิดปัญญาปัญญา ทำให้ไม่เพลินในอาการต่าง ๆ หรือเรียกว่าสัมปชัญญะสติ สัมปชัญญะหมายถึงระลึกรู้ในอาการต่าง ๆ ไม่เผลอเพลินในอาการต่าง ๆ จะเกิดสติสัมปชัญญะได้ต้องปฏิบัติตามมรรค 8
  • 18. คาถาชนะมาร [6718-7q]

    01:01:52
    Q : คาถาใดใช้ขจัดมาร และพระไพรีพินาศ ศัตรูพินาศจริงหรือ?A : มารคือสิ่งที่จะมาขัดขวางให้เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่สำเร็จ ท่านสอนว่ามารมี 5 ประเภท คือมารที่เป็นคน กิเลสมาร มารที่เป็นขันธ์และกรรมก็เป็นมาร วิสัยของมารคือจะคอยขัดขวางล้างผลาญความดี หากเราไม่ให้อาหารแก่มาร เช่น ใครมาด่ามาว่า เราก็ยังดำรงตนอยู่ในมรรค 8 ได้ ไม่โกรธไม่ขัดใจ ไม่ด่าตอบ นั่นคือจิตเราไม่ไปตามกระแสของมาร มารก็จะทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามารไม่มี และหากเราเห็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งแล้วเรายังระลึกถึงคำสอนของท่านอยู่รวมลงในองค์ 8 อันประเสริฐ มารทำอะไรเราไม่ได้ก็จะไปเอง Q : วิธีชนะมารที่ตัวเรา?A : ชนะมารได้ด้วยการไม่ให้อาหารมารไม่ทำตาม มารพอเราไม่ไปตามอำนาจของมันเดี๋ยวมันก็ไปเอง การชนะมารคือชนะตัวเราเอง พอเราควบคุมจิตเราให้อยู่ในธรรมะได้ ทรงอยู่ในธรรมได้ เราชนะตรงนี้ได้ เราก็จะชนะทุกอย่าง Q : เพิ่มพลังให้จิต? A : วิธีเพิ่มพลังให้จิตเรามีกำลัง คือให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นผู้ที่มีกำลังใจสูง เข้าใจว่ามีทุกข์มีสุข ให้ทำความดีต่อไป Q : นอนสวดมนต์ได้หรือไม่?A : หากเราทำกิริยาใด ๆ แล้วประกอบด้วยความขี้เกียจ นั่นเป็นบาป เราควรตั้งอยู่ในกิริยาที่สำรวมเหมาะสม Q : กระดูกกับความดี?  A : การที่เราจะระลึกถึงบรรพบุรุษหรือใครที่ทำดีกับเราเป็นสิ่งที่ทำได้ การระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อเราเรียกว่าเทวตานุสติ Q : พูดความจริงกับบาปA : หากมีเจตนาโกหกนั่นเป็น “บาป” เช่น เห็นบอกไม่เห็น ได้ยินบอกไม่ได้ยิน คือมีเจตนาโกหก หรืออีกนัยยะหนึ่งคือพอมีคนถามถึงความไม่ดีของคนอื่นด้วยเจตนาที่จะให้เขาระวัง ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เขาแตกกัน ซึ่งหากเขาแตกกันอันนี้เป็นบาป สิ่งที่เราควรทำคือหากเขาไม่ถามก็ไม่ต้องพูดเลย หรือถ้าเขาถามก็ให้พูดนิดเดียว ถ้าเขาถามจี้ก็ให้พูดหลีกเลี้ยวลดหย่อน พูดให้น้อย พูดจากหนักให้เป็นเบา เราจึงจะเป็นคนดี ถ้าเราทำเช่นนี้ความชั่วจะไม่ขยายผล
  • 17. สิ่งที่เป็นไปได้ยาก 3 สิ่ง [6717-7q]

    55:40
    Q: การยอมรับความจริงเป็นทางออกของหลายปัญหาจริงหรือไม่?A : ทุกข์ เวทนา นั้น มันไม่ได้เป็นของจริง เปรียบดังพยับแดดที่เหมือนจะมีจริงแต่มันไม่มีจริง พอเราเข้าใจว่ามันไม่ใช่ความจริง ยอมรับด้วยปัญญา เราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป ให้เรานำธรรมะมาทำ มาปฏิบัติ มาใช้ในชีวิตประจำวัน พยามเดินตามมรรค อย่าออกนอกมรรค Q: การสะสมอาสวะใหม่ให้เข้ามาอยู่ในจิตใจจึงจะได้ผล?A : ไม่ใช่ว่าเป็นการสะสมอาสวะใหม่ แต่ที่จริงแล้วเป็นอาสวะเก่ามันลอกออก เพราะอาสวะมันเป็นสิ่งสะสม มีกามาสวะ คือ เมื่อเราชอบพอสิ่งใด กามาสวะก็จะเพิ่มพูน ปฏิฆาสวะ คือเมื่อเราไม่พอใจขัดใจ ปฏิฆาสวะก็จะเพิ่มพูน และอวิชชาสวะ คือเมื่อไม่เข้าใจสถานการณ์ ง่วงซึม เห็นแก่ตัว อวิชชาสวะก็จะเพิ่มพูน แต่หากมีสถานการณ์ที่มากระตุ้นให้เกิดอาสวะเดิม แล้วเราไม่ทำตามเดิม เรามาเดินตามมรรค ปฏิบัติตามมรรคได้ อาสวะเดิมมันก็จะหลุดลอกออกทันที Q: การมีปีติ สงบ มีสมาธิ หรือการไม่ยินดียินร้าย อันไหนดีกว่ากัน สุขจากภายในคือสุขจากสมาธิใช่หรือไม่? A : สุขในภายในคือสุขจากสมาธิ (สมาธิ 9 ขั้น) สมาธิ มี 2 ส่วน คือสมถะและวิปัสสนา แยกต่อไปอีก ได้ 3 ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แยกต่อไปอีกได้ 8 ส่วน คือมรรค 8 สมถะและวิปัสสนา เรียกอันเดียวกันว่า “สติ” เมื่อมีสติแล้ว ก็จะทำให้เกิดสมาธิเกิดปัญญาได้ คือทำแล้วจะรวมลง ลงรับกันทั้งหมด ส่วนไม่ยินดียินร้ายน่าจะเน้นมาเรื่องอุเบกขา (สมาธิขั้นที่ 3 ขึ้นไป) Q: ฝึกที่จะไม่พูดในสิ่งที่ไม่จำเป็นเป็นอย่างไร?A: สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูด คือ คำโกหก หลอกลวง เพ้อเจ้อ นินทา ไม่มีสาระหาแก่นสารไม่ได้ ส่อเสียด ยุยงให้แตกกัน รวมถึงคำหยาบทั้งหลาย  Q: การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก?A: ท่านตรัสไว้ 2 นัยยะ นัยยะแรก ท่านเปรียบเทียบกับเต่าตาบอดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยน้ำทะเล ทุก 100 ปี จะโผล่หัวขึ้นมาครั้งเดียว แล้วโผล่หัวขึ้นมาพอดีกับรูในแอกไม้ไผ่ที่มีอยู่รูเดียว นั่นเป็นความยากที่จะเป็นไปได้ นัยยะที่สอง การที่สัตว์นรกจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ยากกว่าเต่าตาบอดตัวที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว และสิ่งที่ยากกว่านี้อีกประการหนึ่ง คือ การที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น คำสอนของท่านคงอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้น หากตอนนี้เราได้ในสิ่งที่ได้มายาก เราเป็นมนุษย์ มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และคำสอนของท่านยังคงอยู่ นั่นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดแล้ว เราสามารถใช้โอกาสที่ได้มายากนี้ ทำตามคำสอนของท่านได้ Q: ทำไมคนเราเกิดมาจึงต่างกัน?A: สิ่งที่จะจำแนกสัตว์ให้ทรามหรือประณีต คือ กรรมและวิบาก|ผลของกรรมซึ่งจุดนี้เราสามารถแก้ไขได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นแล้วเรายังตั้งอยู่ในมรรคได้ แม้เรามามืดเราก็ไปสว่างได้หรือมาสว่างแล้วไปสว่างได้ Q: ขันติกับอุเบกขาต่างกันอย่างไร?A: ขันติ คือ ความอดทน อดทนต่อทุกขเวทนา ต่อความลำบาก ต่อความร้อนความหนาว ต่อคำด่าคำว่า เป็นลักษณะการกระทำที่เราแสดงออก ส่วนอุเบกขาพูดถึงเวทนา ถ้าเป็น “นาม” หมายถึงเป็นเวทนาที่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ได้จะสุขหรือทุกข์ ถ้าเป็น “กิริยา” คือ การวางเฉยในสุข ในทุกข์ และในสิ่งที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์